วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เตือนภัยบริโภคเห็ดป่าระวังเห็ดพิษอาจถึงตาย


ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนภัย ปชช. ที่ชอบบริโภคเห็ดป่า ระวังเห็ดพิษ ปีนี้พบแล้ว 91 ราย
                  น.พ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ขอเตือนประชาชนที่ชอบรับประทานเห็ดป่า ให้ระวังเห็ดพิษ หรือที่เรียกว่า เห็ดเมา ซึ่งในประเทศไทยพบประมาณ 12 ชนิด ที่รุนแรง และพบบ่อย คือ เห็ดระโงกหิน มีลักษณะใกล้เคียงเห็ดที่กินได้ โดยเฉพาะช่วงที่ดอกเห็ดยังอ่อน หรือดอกตูมจะแยกไม่ออก ซึ่งพิษมีความทนทานต่อความร้อน มีฤทธิ์ทำลายตับ ไต สมอง อาจเสียชีวิตใน 4-6 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากกินแกล้มกับเหล้าด้วย อาจจะทำให้อันตรายมากยิ่งขึ้น ชี้การทดสอบพิษแบบพื้นบ้าน เช่น ต้มพร้อมช้อนนั้น เชื่อถือไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ในรอบ 4 เดือนปีนี้ (1 มกราคม-11 พฤษภาคม 2557) พบผู้ป่วยแล้ว 91 ราย และมักป่วยยกบ้าน สำหรับอาการหลังรับประทาน 3 ชั่วโมง จะเกิดอาการ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เพ้อ คลุ้มคลั่ง ซึม ชัก แนะนำประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดป่า หรือเห็ดที่ไม่รู้จักนำมารับประทาน ทั้งนี้ ข้อสังเกตเห็ดที่มีพิษ มักจะมีกลิ่นเอียน สีเข้มจัด มีขนหรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป

ตารางเปรียบเทียบลักษณะเห็ดพิษและเห็ดรับประทานได้ 

เห็ดพิษ
เห็ดรับประทานได้
1. ส่วนใหญ่เจริญงอกงามในป่า
1. ส่วนใหญ่เจริญในทุ่งหญ้า
2. ก้านสูง ลำต้นโป่งพองออก โดยเฉพาะที่ฐาน กับที่วงแหวนเห็นชัดเจน
2. ก้านสั้น อ้วนป้อมและไม่โป่งพองออก ผิวเรียบไม่ขรุขระ ไม่มีสะเก็ด
3. สีผิวของหมวกมีได้หลายสี เช่น สีมะนาว ถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง
3. สีผิวของหมวกส่วนใหญเป็นสีขาวถึงสีน้ำตาล
4. ผิวของหมวกเห็ดส่วนมากมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่
4. ผิวของหมวกเห็ดเรียบจนถึงเป็นเส้นใยและ เหมือนถูกกดจนเป็นแผ่นบาง ๆ ดึงออกยาก
5. ครีบแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง
5. ครีบแยกออกจากกัน ในระยะแรกเป็นสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
6. สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใส ๆ รูปไข่กว้าง
6. สปอร์สีน้ำตาลอมม่วงแก่รูปกระสวยกว้าง















การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
        การปฐมพยาบาลมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยรับประทานเห็ดพิษและเกิดอาการพิษขึ้น ควรจะรู้จักวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องกับผู้ป่วย แต่ตามชนบทมักจะแสดงอาการหลังรับประทานแล้วหลายชั่วโมง ซึ่งพิษมักจะกระจายไปมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรู้จักวิธีปฐมพยาบาล แล้วรีบนำส่งแพทย์ เพื่อทำการรักษาโดยรีบด่วนต่อไป

        การปฐมพยาบาลนั้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มาก และทำการช่วยดูดพิษจากผู้ป่วยโดยวิธีใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อนแล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง จึงนำส่งแพทย์พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษหากยังเหลืออยู่ หากผู้ป่วยอาเจียนออกยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นดื่ม จะทำให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

        อนึ่งห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนักโดยพละการ วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหากร่างกายขาดน้ำ

        หลังจากปฐมพยาบาลผู้ป่วยแล้วให้รีบนำส่วนแพทย์โดยด่วน พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษ (หากยังเหลืออยู่) หรืออาจจะทำการปฐมพยาบาลผู้ป่วยในระหว่างนำส่งแพทย์ด้วยกันก็ได้
 

 อ่านต่อ