วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โรคไข้เลือดออกเดงกี

โรคไข้เลือดออกเดงกี


ฝ่ายอาโบไวรัส
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สาเหตุการเกิดโรค
การเกิดไข้เลือดออกนั้นมีสาเหตุจากเชื้อโรคได้หลายชนิด แต่สำหรับโรคที่เกิดการติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เชื้อไวรัสเดงกีจะทำให้ผู้ได้รับเชื้อไม่มีอาการ, มีอาการที่ไม่รุนแรง ซึ่งเรียกว่าไข้เดงกี หรือมีอาการรุนแรง ซึ่งเรียกว่าไข้เลือดออกเดงกี ความรุนแรงอาจจะทำให้มีภาวะช็อกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

ไวรัสเดงกี มี 4 ชนิด ได้แก่ ไวรัสเดงกีชนิดที่หนึ่ง , ไวรัสดงกีชนิดที่สอง , ไวรัสเดงกีชนิดที่สาม และไวรัสเดงกีชนิดที่สี่ เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นอย่างถาวรแต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีอีก 3 ชนิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 3 หรือ 4 ครั้ง
การแพร่กระจายของไวรัสเดงกี
เชื้อไวรัสเดงกีแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นตัวนำที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะมียุงลายหลายชนิดที่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ที่มีความสำคัญทางด้านระบาดวิทยาของโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกี คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti ) ยุงลายมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาวสลับดำ แหล่งเพาะพันธุ์ คือภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้นและมีน้ำขังเกิน โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน พบอยู่ภายในบ้านและรอบๆบ้าน มีระยะบินไกล 50 เมตร จะพบยุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน

อาการทางคลินิกของโรคไข้เลือดออก
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้เดงกี ไปจนถึงมีอาการเลือดออก อาจรุนแรงมากจนถึงช็อกและเสียชีวิตได้

การดำเนินโรคของไข้เลือดออกเดงกี
การดำเนินการของโรคไข้เลือดออกเดงกีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วันแบ่ง ได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะไข้ ประมาณ 2-7 วัน ทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักได้ ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการน้ำมูกหรืออาการไอ และอาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาการเลือดออกที่อาจพบได้ในระยะนี้ คือ จุดเลือดออกเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟันได้
2. ระยะวิกฤต/ช็อก เป็นระยะที่มีการั่วของพลาสมา โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24-48 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
3. ระยะฟื้นตัว ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถึงแม้จะมีอาการรุนแรง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคจะอาศัยอาการทางคลินิก 4 ประการ คือ
1) ไข้เกิดอย่างเฉียบพลัน สูงลอย 2-7 วัน
2) อาการเลือดออก
3) ตับโต
4) ภาวะช็อก
ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของผลทางเลือด 2 ประการ ได้แก่
1) มีเกล็ดต่ำ
2) ความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น

การพยาบาลผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี/ไข้เดงกี
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย หรือสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสเดงกีแล้ว แพทย์จะตรวจติดตามอาการผู้ป่วยไปจนกว่าไข้จะลดลง 24 ชั่วโมงแล้ว จึงวินิจฉัยได้ว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไข้เดงกี ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

การรักษาเบื้องต้นที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ที่บ้าน คือ เมื่อผู้ป่วยมีไข้ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ถ้ามีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ให้ยาลดไข้พาราเซตตามอล ถ้าไข้ไม่ลดลงหลังให้ยาลดไข้ ให้เช็ดตัว ห้ามให้ยาลดไข้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง ห้ามให้ยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น แอสไพริน ยาซอง หรือ NSAID โดยเด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้เลือดออกมาก, มีอาการทางสมอง หรือตับวายได้ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ดังนั้นให้ผู้ปกครองรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้องมาก, อาเจียนมาก, กระสับกระส่าย เอะอะโวยวาย, ซึมมาก, ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ หรือกระหายน้ำมาก, เลือดออก, อาการเลวลงเมื่อไข้ลง, ผิวหนังเย็น เหงื่อออก, ปัสสาวะน้อย


การตรวจทางห้องปฏิบัติการไวรัสเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกี
การตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกีเป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยโรคของแพทย์ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญ และนำไปใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกี โดยมี 2 หลักการ คือ

1. การตรวจหาตัวเชื้อไวรัส หรือชิ้นส่วนของไวรัส/สารพันธุกรรมของไวรัส ตัวอย่างเลือดที่ใช้ควรเป็นตัวอย่างที่เจาะจากผู้ป่วยในระยะที่มีอาการไข้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธี PCR เพราะเป็นวิธีการที่ใช้เวลารวดเร็ว ใช้เวลาตรวจ 1-2 วันเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถบอกชนิดของเชื้อไวรัสเดงกีที่ผู้ป่วยติดเชื้อได้อีกด้วย
2. การตรวจภูมิคุ้มกัน ตรวจพบในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการเจาะเลือดในระยะที่ไข้ลดลงแล้ว ใช้เวลาตรวจ 1-2 วัน

ส่งตรวจได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค

การควบคุมยุงลาย
ได้แก่การตัดวงจรชีวิตของยุงลาย
1. ระยะไข่ ทำได้ง่ายๆโดยการขัดล้างตามผิวภาชนะต่างๆเป็นประจำทุกสัปดาห์
2. ระยะลูกน้ำและตัวโม่ง กระทำได้โดย ปกปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาอย่างมิดชิด, ถ้าเป็นภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ให้ใส่ทรายอะเบท หรือหมั่นขัดล้าง เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือเลี้ยงปลาหางนกยูง, การใช้แบคทีเรีย BTI, คว่ำภาชนะที่ไม่ได้ใช้, ทำลายเศษวัสดุที่อาจเป็นที่ขังน้ำ,ใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอกลงในจานรองขาตู้กันมด เป็นต้น
3. ระยะยุงตัวเต็มวัย สามารถกำจัดได้โดย การใช้สารเคมี, การใช้ไม้แบดไฟฟ้า และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใช้สารทาป้องกันยุง (repellents) ในระยะยาวต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลาย

" การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกจะได้ผลดีต้องผสมผสานหลายๆวิธี
เข้าด้วยกันและความร่วมมือของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคไข้เลือดออก "