วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

รณรงค์ฉีดวัคซีนคอตีบ - บาดทะยัก

รณรงค์ฉีดวัคซีนคอตีบ - บาดทะยัก



โรคคอตีบและโรคไอกรน เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็ก ส่วนโรคบาดทะยักพบได้ในทุกเพศและวัย เพราะมีการปนเปื้อนของเชื้อบาดทะยักในสิ่งแวดล้อมและดิน ในประเทศไทยมีการใช้วัคซีนป้องกันคอตีบ - บาดทะยัก- ไอกรน ครอบคลุมทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ช่วยลดอุบัติการณ์ของการเกิดโรคทั้งสามได้เป็นอย่างดี
 



โรคคอตีบ

เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นเฉียบพลันและร้ายแรง พบได้ประปรายตลอดปี ส่วนมากจะพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เกิดจากการติดเชื้อ Corynebacterium diphtheriae ในน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย มีระยะฟักตัวประมาณ 1-7 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง หายใจหอบ คอบุ๋ม ชีพจรเร็ว การตรวจคอ อาจพบแผ่นฝ้าสีขาวปนเทา (White-grayish membrane) ซึ่งดูคล้ายเศษผ้าสกปรกติดอยู่บนทอนซิล คอหอย และลิ้นไก่ ซึ่งเขี่ยออกยาก ถ้าเขี่ยแรงจะทำให้มีเลือดออกได้ อาการแทรกซ้อนที่สำคัญคือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) และประสาทอักเสบ (neuritis) ซึ่งเกิดจากชีวพิษ (toxin) ของเชื้อ ดังนั้นการให้วัคซีนที่เป็นทอกซอยด์ (toxoid) ซึ่งได้จากชีวพิษช่วยลดอัตราการเกิดโรคคอตีบได้เป็นอย่างดี จึงแนะนำให้มีการให้วัคซีนให้ครบตามกำหนด ปัจจุบันพบว่าระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในผู้ใหญ่ลดลง องค์การอนามัยโลกแนะนำให้มีการใช้วัคซีน dT ทดแทนการฉีดวัคซีนบาดทะยักเดี่ยวในกรณีของคนตั้งครรภ์และผู้ที่มีบาดแผล

โรคบาดทะยัก

โรคนี้เกิดจากสารชีวพิษ (toxin) ที่สร้างจากเชื้อ Clostridium tetani ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ไม่ชอบออกซิเจน การเกิดโรคเกิดจากการปนเปื้อนของชีวพิษทางบาดแผลหรือการได้รับเชื้อเข้าสู่แผลที่มีออกซิเจนต่ำจะทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดีและให้ชีวพิษออกมา อาการของโรคคือ การเจ็บปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เริ่มจากบริเวณแก้มและลำคอ และลงมาที่กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว ทำให้มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้อง บางครั้งอาจพบการหดเกร็งกล้ามเนื้อเฉพาะบริเวณบาดแผลเท่านั้น การหดเกร็งกล้ามเนื้อเกิดจากการกระตุ้นระบบประสาทรับความรู้สึกของชีวพิษ ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อบาดทะยักได้ไม่ดีและไม่สามารถกำจัดชีวพิษที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่การให้วัคซีน ที่เป็น ทอกซอยด์ช่วยป้องกันโรคได้เป็นอย่างดีและการให้อิมมูโนกอลบลูลินสามารถช่วยกำจัดชีวพิษได้

โรคไอกรน

เป็นโรคที่พบมากในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี และในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนมีอัตราการเสี่ยงต่อการการเกิดโรคและเสียชีวิตได้สูง เกิดจากเชื้อ Bordeltella pertussis การติดเชื้อผ่านทางน้ำมูกและน้ำลาย อาการทั่วไปคล้ายไข้หวัดคือ ไข้ต่ำ น้ำมูกไหลจาม และไอ แต่อาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยคอไม่แดงและเสียงปอดปกติ ยกเว้นในรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อนจะพบร่วมกับไข้ อาจพบปื้นแดงที่ตาขาว ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดของไอกรนในผู้ใหญ่ซึ่งกำลังมีการพิจารณาการให้วัคซีนไอกรนซ้ำอีกในผู้ใหญ่

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยักและไอกรน

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยักทำจากทอกซอยด์ ขณะที่วัคซีนป้องกันโรคไอกรนเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายหรือส่วนของแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อ วัคซีนในกลุ่มนี้ที่มีอยู่แบ่งได้เป็น 3 จำพวกคือ

1. วัคซีนบาดทะยัก (TT) ประกอบด้วยทอกซอยด์บาดทะยัก

2. วัคซีนผสมของคอตีบและบาดทะยัก วัคซีนกลุ่มนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DT และวัคซีน dT ซึ่งแตกต่างกันที่ปริมาณของทอกซอยด์คอตีบ โดยทอกซอยด์คอตีบที่ใช้ในเด็กต่ำกว่า 7 ปีจะมีปริมาณสูงถึง 30 Lf (DT) ส่วนวัคซีนที่มีปริมาณทอกซอยด์คอตีบต่ำอยู่ที่ 10 Lf (dT) ใช้สำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป

3. วัคซีนผสมของคอตีบ บาดทะยักและไอกรน วัคซีนกลุ่มนี้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน DTwP และวัคซีน DTaP วัคซีนทั้งสองชนิดมีองค์ประกอบของทอกซอยด์คอตีบและบาดทะยักที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างในส่วนของวัคซีนไอกรน โดยวัคซีน DTwP ประกอบด้วยเชื้อไอกรนที่ตายแล้ว ขณะที่วัคซีน DTaP ประกอบด้วยแอนติเจนจากผนังเซลล์ของเชื้อไอกรนจำนวน 2 อย่างคือ Inactivated lymphocytois promoting factor (LPF) และ Filamentous hemagglutinin (FHA) วัคซีนนี้ใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ปี โดยพบว่าวัคซีนทั้งสองชนิดให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคที่ไม่แตกต่างกัน แต่วัคซีน DTwP ให้ผลข้างเคียงสูงกว่า DTaP ถ้าได้รับวัคซีน DTwP แล้วมีไข้ สูงเกิน 40.5 0C มีการชักหรือกรีดร้องนานกว่า 3 ชั่วโมง หรือมีภาวะตัวอ่อนและไม่ตอบสนองเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้รับวัคซีน เมื่อจะให้วัคซีนครั้งต่อไปควรให้ยาลดไข้หรือยากันชักป้องกันไว้ก่อน หรือให้วัคซีน DTaP/DT แทน

 

 

 

 

 

อ่านต่อ



ข้อมูลอ้างอิงจาก ภญ.ผศ.ดร.จุรีย์ เจริญธีรบูรณ์