ใครไม่อยากสมองเสื่อม หรือหลงลืมอะไรได้ง่าย ห้ามขาดอาหารเช้า ไม่ว่าจะมื้อเล็ก มื้อใหญ่ หรือมื้อง่ายๆ ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ได้อย่างดี สาเหตุที่อาหารเช้ามีส่วนช่วยลดการเกิดโรคอัลไซเมอร์หรือสมองเสื่อม เนื่องจากการที่เราไม่กินอาหารเช้า จะทำให้ร่างกายเราขาดอาหารยาวนานมากกว่า 12-15 ชั่วโมง เพราะระหว่างมื้อเย็นจนมาถึงมื้อเช้าของอีกวัน รวมเวลานอนหลับ ร่างกายจะไม่ได้รับสารอาหารยาวนานมาก ดังนั้นหากเราไม่กินอาหารเช้าผลที่ตามมาคือ ทำให้เราขาดน้ำตาลในเลือด หรือน้ำตาลในเลือดลดลง ซึ่งน้ำตาลในเลือดนี้เอง ที่เป็นอาหารสำคัญต่อการทำงานของสมองของเราทุกคน เมื่อน้ำตาลไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เซลล์สมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความคิดความจำก็จะได้รับน้ำตาลไปบำรุงน้อยตามลงไปด้วย และนี่เองที่เป็นสาเหตุทำให้สมองขาดน้ำตาล ขาดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า เพราะขนาดร่างกายเรายังต้องการน้ำตาลมาหล่อเลี้ยงให้เพียงพอ สมองก็ต้องการไม่ต่างกัน นอกจากนี้ การกินอาหารเช้ายังทำให้ร่างกายเราสร้างฮอร์โมน “เซโรโทนิน” ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างสมองให้ทำงานรวดเร็ว ฉับไว คิดอะไรได้แล่นฉิว ไม่เฉื่อยชา หรือเรียกง่ายๆ ว่าช่วยให้สมองไว โดยข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่แค่นี้ค่ะ เพราะอีกสาเหตุที่ทำให้คนไม่กินอาหารเช้า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่า นั่นเป็นเพราะว่า คนที่ขาดอาหารเช้า ทำให้เป็นโรคกระเพาะได้ง่าย เมื่อเป็นโรคกระเพาะก็ทำให้ต้องกินยาประเภทที่มีส่วนประกอบของอลูมิเนียม เช่น ยาเคลือบกระเพาะต่างๆ ทำให้เกิดการสะสมอลูมิเนียมในร่างกาย ซึ่งมีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย เพราะฉะนั้นอาหารเช้า คืออาหารมื้อสำคัญสุด ที่ไม่เพียงแต่ช่วยบำรุงร่งกายให้แข็งแรงสุขภาพดี เตรียมพร้อมต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันให้มีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของสมอง ป้องกันความจำเสื่อม
ขอบคุณที่มา www.thehealthyclub.com
|
ตำบลสุมเส้า อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี E-mail = phen213@hotmail.com Tel. 042-219355 Facebook = โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแสนตอ
วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557
ชวนชะลออัลไซเมอร์ ! ด้วยอาหารเช้า
วันศุกร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2557
ยาคุมฉุกเฉิน...เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้
ยาคุมฉุกเฉิน ชื่อนี้คุณผู้อ่านหลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น ยาคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง หลายท่านคงร้อง อ๋อ แต่ช้าก่อน ท่านทราบหรือไม่ว่า ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีความเหมือนหรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่นๆ คือ มีประโยชน์หากใช้ถูกต้อง และก่ออาการข้างเคียงหรืออันตรายหากใช้ไม่ถูก ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร มารู้จัก ยาคุมฉุกเฉิน กันก่อน เดิมเรียกว่า "ยาคุมกำเนิดหลังเพศสัมพันธ์" แต่ต่อมาเพื่อความเข้าใจและการใช้ที่ถูกต้องจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน" ซึ่งจริง ๆ แล้ว หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า "ยาคุมฉุกเฉิน" แท้จริงแล้วไม่ใช่ยา แต่เป็นฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งสูงกว่ายาคุมกำเนิดโดยทั่วไปถึง 2 เท่า และมี 2 ชนิดคือ 1.ยาคุมฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว มีชื่อทางการค้าว่า โพสตินอร์ จะมีส่วนประกอบหลักเพียงอย่างเดียว คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาดเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม โดยลีโวนอร์เจสเตรลนี้จัดเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์กลุ่มเดียวกับฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกมีความหนาขึ้นและยากต่อการฝังตัวของไข่ นอกจากนี้ ยังทำให้บริเวณปากมดลูกมีสารคัดหลั่งที่มีลักษณะเหนียวข้นออกมา จึงทำให้ตัวอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น ผลข้างเคียงที่อาจพบได้บ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน คัดเต้านม และระดูมาผิดปกติ โดยอาจมาเร็วขึ้นหรือช้าก็ได้ บางครั้งอาจพบเลือดออกกะปริดกะปรอย ดังนั้น ถ้าขาดระดูหรือระดูมากะปริดกะปรอยหลังใช้ยานี้ จำเป็นจะต้องตรวจให้ทราบว่าเป็นการตั้งครรภ์หรือเป็นผลของยา ในกรณีที่ป้องกันไม่ได้ ยังมีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงกว่าปกติอีกด้วย 2.ยาคุมฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวม หรือที่เรียกว่า Yuzpe regimen เป็นการใช้ฮอร์โมน ethinyl estradiol 0.1 มิลลิกรัม และ Levonorgestrel ขนาด 0.5 มิลลิกรัม โดยยาจะไปขัดขวางการปฏิสนธิของสเปิร์มและไข่ ยับยั้งการตกไข่ หรืออาจมีผลต่อการทำงานของคอร์ปัสลูเตียมก็ได้ ทั้งนี้ วิธีนี้เป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปแต่มีข้อเสียคือ มีผลข้างเคียงมากกว่าแบบแรก การกินยาคุมฉุกเฉิน อย่างไรถูกต้อง ตามคำแนะนำบอกไว้ว่า การรับประทานยาคุมฉุกเฉินต้องกิน 2 ครั้ง โดยเม็ดแรกต้องกินภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นอีก 12 ชั่วโมงจึงรับประทานยาเม็ดที่ 2 แต่ถ้าหลังจากทานยาเข้าไปแล้วไม่ว่าครั้งแรกหรือครั้งหลังแล้วเกิดการอาเจียนภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง จะต้องทานยานั้นอีกครั้ง ทั้งนี้ วิธีการรับประทานยาข้างต้นก็เป็นวิธีการที่ถูกต้องค่ะ แต่จริง ๆ แล้ว ทางกรมอนามัย ยังได้แนะนำวิธีการกินยาคุมฉุกเฉินอีกหนึ่งวิธีซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้กันก็คือ ให้รับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันเลยใน 5 วันหลังจากมีเพศสัมพันธ์ได้เลย ซึ่งวิธีดังกล่าว ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ รวมทั้งองค์การอาหารและยาของสหรัฐ ว่าใช้ได้ผล และเป็นการป้องกันการลืมกินยาเม็ดที่ 2 ได้ดี แต่ในประเทศไทยยังรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก อ่านต่อที่นี้ค่ะ
ขอบคุณ www.pharmacy.mahidol.ac.th , www.kapook.com
|
วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557
โรคที่พบในฤดูร้อน
โรคที่เกิดในฤดูร้อน
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งพื้นที่ ที่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอให้ระมัดระวังความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษ และยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ ได้แก่ กินร้อน คือ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หากยังไม่กิน ต้องเก็บในตู้เย็นหรืออุ่นให้ร้อนก่อนกิน ใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม ดื่มน้ำที่สะอาด เช่น น้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก
โรคที่มักเกิดในฤดูร้อนพบได้บ่อยทุกปี ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน (Acute Diarrhea) โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) บิด (Dysentery) ไทฟอยด์ (Typhoid) อหิวาตกโรค (Cholera) โรคไข้หวัดหน้าร้อน โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ผดร้อน โรคเครียด หงุดหงิด ปวดศีรษะ เป็นลมจากอากาศร้อน (โรคฮีท สโตรค) และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)
1.โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ทำให้มีการถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด
2.โรคอาหารเป็นพิษ ติดต่อโดยการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ มักพบในอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีอยู่ทั้งในเนื้อสัตว์ ไข่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล นมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาหารที่ปรุงทิ้งไว้เป็นเวลานาน อาการที่พบ มักมีไข้ ปวดท้อง เชื้อที่ได้รับสามารถทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ปวดท้อง ปวดเมื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง หรือการติดเชื้อจากอวัยวะอื่น เช่น ข้อกระดูก ถุงน้ำดี หัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง ไปจนถึงโลหิตเป็นพิษ ถ้าเกิดในทารก เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ จะทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
3.โรคบิด เกิดจากแบคทีเรียหรืออะมีบา ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหาร ผักดิบ น้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรค อาการสำคัญ คือ ถ่ายอุจจาระบ่อย อุจจาระมีมูกหรือมูกปนเลือด มีไข้ ปวดท้องแบบปวดเบ่ง
4.อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปน จะเกิดอาการถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงตายได้
5.ไข้ไทฟอยด์หรือ ไข้รากสาดน้อย ติดต่อจากอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย ทำให้มีไข้ ปวดหัว เมื่อย เบื่ออาหาร อาจท้องผูกหรือท้องเสีย อาจมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระและปัสสาวะเป็นครั้งคราว และเป็นพาหะนำโรคได้ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำส่วนใหญ่เชื้อจะติดต่อทางการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ควรรับประทานอาหารสุขใหม่ ไม่รับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม การรักษาเริ่มแรก ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) ในสัดส่วนที่ถูกต้อง คือ ผสมน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซอง ผสมน้ำสุกที่เย็น 1 แก้ว ให้ดื่มบ่อยๆ และควรดื่มน้ำและอาหารเหลว เช่น น้ำชา น้ำข้าว น้ำแกงจืด น้ำผลไม้ หรือข้าวต้มหากมีอาเจียนมากขึ้น ไข้สูงชัก ควรนำส่งแพทย์โดยเร็ว
6. โรคไข้หวัดหน้าร้อน โรคนี้สาเหตุเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ การแสดงอาการอาจถูกกระตุ้นจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ร่วมกับการรับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไป โดยมีอาการตั้งแต่น้อยไปถึงมาก เช่น อาการหวัดธรรมดาจนถึงหลอดลมอักเสบ ปอดบวม จึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนอยู่แออัด อากาศถ่ายเทได้น้อย เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ตลาด แต่ความคิดที่ว่าหลบร้อนไปรับแอร์เย็นๆ ในสถานที่เหล่านี้ก็ควรระมัดระวังให้ดี หากเป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอก็ไม่ควรไป แต่หากพบว่าติดเชื้อไข้หวัดเข้าแล้ว ก็ไม่ต้องตกใจมาก ให้พักผ่อนให้พอเพียง ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ รับประทานอาหารร้อน ๆ หากมีไข้สูงก็ทานยาพาราเซตามอลช่วยลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ก็จะช่วยให้ไข้ลงได้เร็วและสบายตัวขึ้น
7. โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ผดร้อน โรคผิวหนังเหล่านี้ มักเกิดขึ้นได้มากในหน้าร้อน เมื่อไม่รักษาความสะอาดที่ผิวหนัง สาเหตุมักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ผิวหนังและรูขุมขนอักเสบ มีแผลเป็นตุ่มหนอง มีเชื้อราตามจุดอับชื้นต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำให้เกิดโรคกลาก เกลื้อนได้มาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากเล่นน้ำที่ไม่สะอาดเข้า ก็จะเกิดโรคเหล่านี้ได้ง่ายมาก จึงควรรักษาความสะอาดร่างกาย รวมทั้งอาบน้ำบ่อย ๆ ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนาจนเกินไป
8. โรคเครียด หงุดหงิด ปวดศีรษะ อาจดูเป็นเรื่องธรรมดาที่คิดว่าเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ปัจจัยด้านอากาศที่ร้อนขึ้น อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด นอนไม่หลับ ฉุนเฉียว โมโหได้ง่ายขึ้น วิธีแก้ปัญหาควรแก้ที่ต้นเหตุ เช่น เลี่ยงอากาศที่ร้อนอบอ้าว อาบน้ำบ่อยขึ้น ประแป้งเย็น ทำจิตใจให้สบาย ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ หางานอดิเรกทำ ฝึกจิตใจและสมาธิ ใจเย็น ค่อยพูดค่อยจา แต่หากเป็นมากควรไปปรึกษาแพทย์
9. เป็นลมจากอากาศร้อน (โรคฮีท สโตรค) เป็นโรคที่หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว ปัจจุบันพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้น เกิดจากการที่ร่างกายอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด อบอ้าว อากาศถ่ายเทไม่ดี นอกจากนี้ ยังพบว่า การดื่มน้ำน้อยก็มีโอกาสเป็นลมจากอากาศร้อนได้มากขึ้น เพราะเส้นเลือดส่วนปลายขยายตัวมากในสภาวะอากาศภายนอกที่ร้อนจัด ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม
10.โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ มักเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน ส่วนใหญ่พบในสุนัข แมว ติดต่อได้ทั้งการโดนกัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือ น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำและฉีดวัคซีนป้องกัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการภายใน 15-60 วัน บางรายอาจนานเป็นปี โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษาทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตทุกรายภายใน 2-7 วัน หลังแสดงอาการ จึงต้องรีบให้วัคซีนทันทีเมื่อได้รับเชื้อ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที เพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่
ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวสำหรับหน้าร้อนนี้
- ทานอาหารและน้ำที่สุกสะอาด อาหารไม่บูดเสียสภาพก่อนนำมาปรุง อาหารที่ต้องการความสด เช่น อาหารทะเล ควรระมัดระวังการปนเปื้อนน้ำยาฟอร์มาลิน หากไม่แน่ใจไม่ควรซื้อมารับประทาน งดเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะยิ่งอากาศร้อนมาก การดูดซึมแอลกอฮอล์จะสูง ร่างกายจะสามารถซึมผ่านแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน จนปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูงขึ้น ปัสสาวะบ่อย ขาดน้ำ และน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำได้
- หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน หากอากาศร้อนจัด อาจอาบน้ำบ่อยขึ้น ปรับสภาพบ้านให้เหมาะกับฤดู เช่น เปิดหน้าต่าง ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ฝึกสมาธิ หางานอดิเรกทำ ก็จะช่วยลดความเครียดและหงุดหงิดลงได้ หากเลี้ยงสัตว์ควรพาไปรับวัคซีน เพื่อลดความเสี่ยงของตนเองและผู้อื่น
- เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้เหมาะสม เช่น ผ้าฝ้ายที่ระบายความร้อนได้ดี สีอ่อน โทนเย็น ๆ ช่วยให้จิตใจสบาย หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับแดด อากาศร้อนจัด หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ควรสวมหมวก สภาพอากาศร้อน ๆ แบบนี้..อย่าปล่อยให้กายและใจร้อนตาม หมั่นฝึกจิต ทำสมาธิ ดูแลสุขภาพ ก็จะช่วยคลายร้อนได้มากเลยทีเดียว
ข้อมูลอ้างอิงจาก นพ.ศักดา อาจองค์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ
สหรัถ กังแฮ , สิริพิชญ์ อุปแก้ว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)