วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โรคไข้เลือดออกเดงกี

โรคไข้เลือดออกเดงกี


ฝ่ายอาโบไวรัส
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สาเหตุการเกิดโรค
การเกิดไข้เลือดออกนั้นมีสาเหตุจากเชื้อโรคได้หลายชนิด แต่สำหรับโรคที่เกิดการติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี เชื้อไวรัสเดงกีจะทำให้ผู้ได้รับเชื้อไม่มีอาการ, มีอาการที่ไม่รุนแรง ซึ่งเรียกว่าไข้เดงกี หรือมีอาการรุนแรง ซึ่งเรียกว่าไข้เลือดออกเดงกี ความรุนแรงอาจจะทำให้มีภาวะช็อกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลรักษาอย่างถูกต้อง

ไวรัสเดงกี มี 4 ชนิด ได้แก่ ไวรัสเดงกีชนิดที่หนึ่ง , ไวรัสดงกีชนิดที่สอง , ไวรัสเดงกีชนิดที่สาม และไวรัสเดงกีชนิดที่สี่ เมื่อมีการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีชนิดนั้นอย่างถาวรแต่จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีอีก 3 ชนิดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6-12 เดือน ดังนั้นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีไวรัสเดงกีชุกชุมอาจมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 3 หรือ 4 ครั้ง
การแพร่กระจายของไวรัสเดงกี
เชื้อไวรัสเดงกีแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นตัวนำที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะมียุงลายหลายชนิดที่สามารถแพร่เชื้อได้ แต่ที่มีความสำคัญทางด้านระบาดวิทยาของโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกี คือ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti ) ยุงลายมีขนาดค่อนข้างเล็ก สีขาวสลับดำ แหล่งเพาะพันธุ์ คือภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้นและมีน้ำขังเกิน โดยทั่วไปยุงลายจะออกหากินกัดคนในเวลากลางวัน พบอยู่ภายในบ้านและรอบๆบ้าน มีระยะบินไกล 50 เมตร จะพบยุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน

อาการทางคลินิกของโรคไข้เลือดออก
หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันได้ ตั้งแต่มีอาการไม่รุนแรงคล้ายไข้เดงกี ไปจนถึงมีอาการเลือดออก อาจรุนแรงมากจนถึงช็อกและเสียชีวิตได้

การดำเนินโรคของไข้เลือดออกเดงกี
การดำเนินการของโรคไข้เลือดออกเดงกีที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนประมาณ 7-10 วันแบ่ง ได้เป็น 3 ระยะ คือ
1. ระยะไข้ ประมาณ 2-7 วัน ทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักได้ ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการน้ำมูกหรืออาการไอ และอาจมีอาการเบื่ออาหาร อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาการเลือดออกที่อาจพบได้ในระยะนี้ คือ จุดเลือดออกเล็กๆกระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟันได้
2. ระยะวิกฤต/ช็อก เป็นระยะที่มีการั่วของพลาสมา โดยระยะรั่วจะมีประมาณ 24-48 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้อง ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
3. ระยะฟื้นตัว ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยช็อกถึงแม้จะมีอาการรุนแรง ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

การวินิจฉัยโรค
การวินิจฉัยโรคจะอาศัยอาการทางคลินิก 4 ประการ คือ
1) ไข้เกิดอย่างเฉียบพลัน สูงลอย 2-7 วัน
2) อาการเลือดออก
3) ตับโต
4) ภาวะช็อก
ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของผลทางเลือด 2 ประการ ได้แก่
1) มีเกล็ดต่ำ
2) ความเข้มข้นของเลือดสูงขึ้น

การพยาบาลผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกี/ไข้เดงกี
เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัย หรือสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสเดงกีแล้ว แพทย์จะตรวจติดตามอาการผู้ป่วยไปจนกว่าไข้จะลดลง 24 ชั่วโมงแล้ว จึงวินิจฉัยได้ว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไข้เดงกี ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล

การรักษาเบื้องต้นที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ที่บ้าน คือ เมื่อผู้ป่วยมีไข้ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ถ้ามีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ให้ยาลดไข้พาราเซตตามอล ถ้าไข้ไม่ลดลงหลังให้ยาลดไข้ ให้เช็ดตัว ห้ามให้ยาลดไข้ถี่กว่า 4 ชั่วโมง ห้ามให้ยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น แอสไพริน ยาซอง หรือ NSAID โดยเด็ดขาดเพราะอาจจะทำให้เลือดออกมาก, มีอาการทางสมอง หรือตับวายได้ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำผลไม้

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนเกิดภาวะช็อก ดังนั้นให้ผู้ปกครองรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการ ปวดท้องมาก, อาเจียนมาก, กระสับกระส่าย เอะอะโวยวาย, ซึมมาก, ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ หรือกระหายน้ำมาก, เลือดออก, อาการเลวลงเมื่อไข้ลง, ผิวหนังเย็น เหงื่อออก, ปัสสาวะน้อย


การตรวจทางห้องปฏิบัติการไวรัสเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกี
การตรวจเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสเดงกีเป็นการสนับสนุนการวินิจฉัยโรคของแพทย์ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญ และนำไปใช้ประโยชน์ในการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกี โดยมี 2 หลักการ คือ

1. การตรวจหาตัวเชื้อไวรัส หรือชิ้นส่วนของไวรัส/สารพันธุกรรมของไวรัส ตัวอย่างเลือดที่ใช้ควรเป็นตัวอย่างที่เจาะจากผู้ป่วยในระยะที่มีอาการไข้อยู่ ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธี PCR เพราะเป็นวิธีการที่ใช้เวลารวดเร็ว ใช้เวลาตรวจ 1-2 วันเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถบอกชนิดของเชื้อไวรัสเดงกีที่ผู้ป่วยติดเชื้อได้อีกด้วย
2. การตรวจภูมิคุ้มกัน ตรวจพบในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการเจาะเลือดในระยะที่ไข้ลดลงแล้ว ใช้เวลาตรวจ 1-2 วัน

ส่งตรวจได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาค

การควบคุมยุงลาย
ได้แก่การตัดวงจรชีวิตของยุงลาย
1. ระยะไข่ ทำได้ง่ายๆโดยการขัดล้างตามผิวภาชนะต่างๆเป็นประจำทุกสัปดาห์
2. ระยะลูกน้ำและตัวโม่ง กระทำได้โดย ปกปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาอย่างมิดชิด, ถ้าเป็นภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ ให้ใส่ทรายอะเบท หรือหมั่นขัดล้าง เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือเลี้ยงปลาหางนกยูง, การใช้แบคทีเรีย BTI, คว่ำภาชนะที่ไม่ได้ใช้, ทำลายเศษวัสดุที่อาจเป็นที่ขังน้ำ,ใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอกลงในจานรองขาตู้กันมด เป็นต้น
3. ระยะยุงตัวเต็มวัย สามารถกำจัดได้โดย การใช้สารเคมี, การใช้ไม้แบดไฟฟ้า และการป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใช้สารทาป้องกันยุง (repellents) ในระยะยาวต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ของยุงลาย

" การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกจะได้ผลดีต้องผสมผสานหลายๆวิธี
เข้าด้วยกันและความร่วมมือของชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการควบคุมโรคไข้เลือดออก "

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ

ไข้เลือดออก โรคตัวร้ายที่มียุงลายเป็นพาหะ

 


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค ไข้เลือดออกนอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น และก่อให้เกิดความกังวลต่อผู้ปกครองเวลาเด็กมีไข้ และมักพบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใหญ่จะไม่มีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉพาะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่ชุกชุมไปด้วยยุงตัวร้าย

อาการของ ไข้เลือดออก
อาการของ ไข้เลือดออก ไม่จำเพาะอาการมีได้หลายอย่าง ในเด็กอาจจะมีเพียงอาการไข้และผื่น ในผู้ใหญ่ที่เป็น ไข้เลือดออก อาจจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ หากไม่คิดว่าเป็น โรค ไข้เลือดออก อาจจะทำให้การรักษาช้า ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิต ทั้งนี้ลักษณะที่สำคัญของ ไข้เลือดออก มีอาการสำคัญ 4 ประการคือ

1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40 มักมีหน้าแดง โดยมากไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน

2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการ
อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายดำ มีจุดเลือดออกตามตัว

3. ตับโต

4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือช็อก : มักจะเกิดช่วงไข้จะลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อก ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ

เมื่อใดต้องรีบส่งโรงพยาบาลทันที

เมื่อมีเลือดออกผิดปกติ อาเจียนมาก ปวดท้อง ซึม ไม่ดื่มน้ำ กระหายน้ำตลอดเวลา มีปัสสาวะออกน้อย

เมื่อความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ตัวลาย เหงื่อออกโดยเฉพาะในช่วงไข้ลง

ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก


แนวทางการรักษาโรค ไข้เลือดออก


โรค ไข้เลือดออก ไม่มีการรักษาเฉพาะ การรักษาเป็นเพียงการประคับประคองอย่างใกล้ชิดโดยการเฝ้าระวังภาวะช็อก และเลือดออก และการให้สารน้ำอย่างเหมาะสมก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง โดยทั่วไปการดูแลผู้ป่วยโรค ไข้เลือดออก มีแนวทางการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนี้

1. ให้ยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ พาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกล็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร

2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยไข้เลือดออก มักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือมีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด

3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้าผู้ป่วยไข้เลือดออกมีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

4. ตรวจนับจำนวนเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ เพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย

จะทราบได้อย่างไรว่าผู้ป่วยพ้นขีดอันตรายแล้ว

ผู้ป่วยไข้เลือดออก หากมีอาการไข้ลดลง ภายใน 24-48 ชั่วโมง แล้วเริ่มกินอะไรได้ รู้สึกตัวดี ไม่ซึม แสดงว่าอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว

การปฏิบัติเมื่อมีคนในบ้าน/ข้างบ้านเป็น ไข้เลือดออก


เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์ ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรจะบอกคนในบ้านหรือข้างบ้านว่า มีคนเป็นไข้เลือดออกด้วย และแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดยาหมอกควันเพื่อฆ่ายุง รวมถึงดูแลให้สมาชิกในครอบครัวป้องกันการถูกยุงกัด สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้รีบจัดการและทำลายแหล่งแพร่พันธุ์นั้น เพื่อป้องกันการเป็นไข้เลือดออก

นอกจากนี้ต้องคอยระวังเฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่ามีไข้หรือไม่ หากมีไข้ให้ระวังว่าอาจจะเป็น ไข้เลือดออกได้

เป็นไข้เลือดออกแล้วมีสิทธิ์เป็นซ้ำอีกได้ไหม

เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งในแต่ละปีจะมีการระบาดของสายพันธุ์ต่าง ๆ สลับกันไป หากผู้ป่วยติดเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์ใดไปแล้ว ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้นตลอดชีวิต และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันข้ามไปยังสายพันธุ์อื่นได้ระยะหนึ่ง ก่อนภูมิคุ้มกันในสายพันธุ์อื่นจะหายไป ดังนั้น ผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกในสายพันธุ์ที่ต่างจากที่เคยเป็น แต่ทว่า การติดเชื้อครั้งที่ 2 มักจะมีอาการรุนแรงกว่าการป่วยครั้งแรก แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคนเรามักติดเชื้อไม่เกิน 2 ครั้ง

การป้องกันโรค ไข้เลือดออก
ทุกวันนี้ยังไม่ยาที่ใช้รักษา ไข้เลือดออก ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดโดยป้องกันการแพร่ของยุง


ยุงลาย
ยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก

การควบคุมสิ่งแวดล้อม Environmental management
การควบคุมสิ่งแวดล้อมเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ยุงมีการขยายพันธุ์

แทงค์ บ่อ กะละมัง ที่เก็บกักน้ำจะเป็นแหล่งที่ยุงออกไข่และกลายเป็นยุง ต้องมีฝาปิดและหมั่นตรวจสอบว่ามีลูกน้ำหรือไม่

ให้ตรวจรอยรั่วของท่อน้ำ แทงค์น้ำหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับน้ำว่ารั่วหรือไม่ โดยเฉพาะฤดูฝน

ตรวจสอบแจกัน ถ้วยรองขาโต๊ะ ต้องเปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ สำหรับแจกันอาจจะใส่ทรายผสมลงไป ส่วยถ้วยรองขาโต๊ะให้ใส่เกลือเพื่อป้องกันลูกน้ำ

หมั่นตรวจสอบถาดรองน้ำที่ตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศเพราะเป็นที่แพร่พันธุ์ของยุง โดยเฉพาะถาดระบายน้ำของเครื่องปรับอากาศซึ่งออกแบบไม่ดี โดยรูระบายน้ำอยู่เหนือก้นถาดหลายเซนติเมตร ทำให้มีน้ำขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง

ตรวจสอบรอบ ๆ บ้านว่ามีแหล่งน้ำขังหรือไม่ ท่อระบายน้ำบนบนหลังคามีแอ่งขังน้ำหรือไม่ หากมีต้องจัดการ

ขวดน้ำ กระป๋อง หรือภาชนะอื่นที่อาจจะเก็บขังน้ำ หากไม่ใช้ให้ใส่ถุงหรือฝังดินเพื่อไม่ให้น้ำขัง

ยางเก่าที่ไม่ใช้ก็เป็นแหล่งขังน้ำได้เช่นกัน

หากใครมีรั้วไม้ หรือต้นไม้ที่มีรูกลวง ให้นำคอนกรีตเทใส่ปิดรู ต้นไผ่ต้องตัดตรงข้อและให้เทคอนกรีตปิดแอ่งน้ำ


การป้องกันส่วนบุคคล
ใส่เสื้อผ้าที่หนาพอสมควร ควรจะใส่เสื้อแขนขาว และกางเกงขายาว เด็กนักเรียนหญิงก็ควรใส่กางเกง

การใช้ยาฆ่ายุง เช่น pyrethrum ก้อนสารเคมี

การใช้กลิ่นกันยุงเช่น ตะไคร้ หรือสารเคมีอื่น ๆ

นอนในมุ้ง

การควบคุมยุงโดยทางชีวะ

เลี้ยงปลาในอ่างที่ปลูกต้นไม้ หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

ใช้แบคทีเรียที่ผลิตสาร toxin ฆ่ายุงได้แก่เชื้อ Bacillus thuringiensis serotype H-14 (Bt.H-14) and Bacillus sphaericus (Bs)

การใช้เครื่องมือดักจับลูกน้ำซึ่งเคยใช้ได้ผลที่สนาบบินของสิงคโปร์ แต่สำหรับกรณีประเทศไทยยังได้ผลไม่ดีเนื่องจากไม่สามารถควบคุมแหล่งน้ำธรรมชาติจึงยังมีการแพร่พันธ์ของยุง


ฉีดสารเคมี ไข้เลือดออก

การใช้สารเคมีในการควบคุม
ใช้ยาฆ่าลูกน้ำ วิธีการนี้จะสิ้นเปลืองและไม่เหมาะที่จะใช้อย่างต่อเนื่อง วิธีการนี้จะเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดและได้มีการสำรวจพบว่ามีความชุกของยุงมากกว่าปกติ

ใช้สารลดแรงตึงผิว เช่น ผงซักฟอก สบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นกำจัดยุง เพราะสารดังกล่าวจะไปทำลายระบบการหายใจของแมลง ทำให้แมลงตายได้

ใช้ "ทรายอะเบท" กำจัดยุงลาย โดยให้นำทรายอะเบท 1 กรัม ใส่ในภาชนะที่มีน้ำขัง (อัตราส่วน 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือ 20 กรัม) จะป้องกันไม่ให้เกิดลูกน้ำได้นานประมาณ 1-2 เดือนเลยทีเดียว ซึ่งหลังจากใช้เสร็จแล้วต้องเก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดมิดชิด รวมทั้งเก็บในที่เย็น แห้ง และมีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ

การใช้สารเคมีพ่นตามบ้านเพื่อฆ่ายุง วิธีการนี้ใช้ในประเทศเอเชียหลายประเทศมามากกว่า 20 ปีแต่จากสถิติของการระบาดไม่ได้ลดลงเลย การพ่นหมอกควันเป็นรูปอธรรมที่มองเห็นว่ารัฐบาลได้ทำอะไรเกี่ยวกับการระบาด แต่การพ่นหมอกควันไม่ได้ลดจำนวนประชากรของยุง ข้อเสียคือทำให้คนละเลยความปลอดภัย การพ่นหมอกควันจะมีประโยชน์ในกรณีที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก

หากใครมีข้อสงสัย หรือต้องการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องโรคไข้เลือดออก สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) หมายเลขโทรศัพท์ 089-204-2255 ตลอด 24 ชั่วโมง